(Mao Tse-tung 1893 – 1976)
เหมา เจ๋อ ตง หรือ เหมา เจ๋อ ตุง เกิดที่มณฑลหูหนาน จบการศึกษาจากวิทยาลัยฝึกหัดครู ก่อนจะเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากถูกปราบปรามโดยนายพลเจียงไคเชก เหมาได้ขึ้นมาเป็นประธานของคณะโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ภายใต้การปกครองของเหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้ชนะสงครามกลางเมืองจีน และปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เหมาเจ๋อตุงได้ประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
เหมาได้นำประเทศเข้าเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต ก่อนจะแยกตัวมาภายหลัง เขายังเป็นผู้นำให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม
เหมาได้รับการยกย่องให้รวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง หลังจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติตั้งแต่สงครามฝิ่น ในประเทศเขาถูกเรียกว่า ประธานเหมา (Chairman Mao) แต่เขาปกครองประเทศจีน และก็มีป้ายปรากฏคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นครั้งสุดท้ายที่เหมาจะขอความคิดเห็นกับประชาชนจีน ไม่ช้าหลังจากนั้นเขาก็กำจัดคนที่ออกมาพูดอย่างอำมหิต คนหลายแสนคนถูกระบุว่าเป็นพลเรือนฝ่ายขวา และถูกไล่ออกจากงานคน หลายหมื่นคนถูกส่งเข้าคุก แต่เหมาไม่สนใจอีกต่อไป เขาแวดล้อมด้วยลูกขุนพลอยพยักและมีอิสระที่จะดำเนินตามความคิด ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะคาดเดาปลายทางได้
เหมารวมพลคนใจเดียวกัน ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ.1921 และปีเดียวกัน เขาเป็นแกนนำหยุดงานประท้วงของคนงานเหมืองแร่ที่อันหยวน เขียนหนังสือ “พลังปฏิวัติเบ่งบานออกมาจากปากกระบอกปืน” แล้วก่อตั้งกองทัพแดงกรรมกรและชาวนา ตามด้วยกองทัพปลดแอกประชาชน ปฏิบัติการ “ป่าล้อมเมือง” จนมีชัยเหนือเจียงไคเชก
เหมาเจ๋อตุง กุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ดำรงตำแหน่งประธานสาธารณรัฐจนถึง ค.ศ.1969
หลักการของเหมาเจ๋อตุง
หลักการของเหมาเจ๋อตุงนั้นเน้นการใช้อำนาจเด็ดขาด หรือวิธีการเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตุงเห็นว่าอำนาจนั้นจะได้มาก็ด้วยการปฏิวัติ ดังคำกล่าวว่า “อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน” กล่าวคือ “หลักการของเราคือ พรรคบัญชาปืน จะยอมให้ปืนมาบัญชาพรรคไม่ได้เป็นอันขาด แต่เป็นความจริงที่เมื่อมีปืนแล้ว ก็สามารถสร้างพรรคขึ้นมาได้” เหมาเจ๋อตุงย้ำว่า การปฏิวัติเป็นการต่อสู้โดยไม่ต้องคำนึงหรือนำพาต่อคำคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น
จุดมุ่งหมายของเหมาเจ๋อตุง
- ในด้านเศรษฐกิจ เหมาเจ๋อตุงเน้นความสำคัญ หรือความทุกข์ร้อนของชาวไร่ ชาวนามากยิ่งกว่าความทุกข์ร้อนของชนชั้นกรรมาชีพ ฉะนั้น เหมาเจ๋อตุงจึงมุ่งการปฏิวัติเพื่อชนบทโดยใช้กลยุทธ “ป่าล้อมเมือง” และใช้ระบบคอมมูน ซึ่งเป็นเขตการเกษตรกรรม อันประกอบด้วยกองผลิตเล็ก และกองผลิตใหญ่
- เหมาเจ๋อตุงมีความปรารถนาอย่างแน่วแน่ และจริงจัง ในการวางรากฐานของระบบคอมมิวนิสต์ในเอเชีย โดยใช้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเผยแพร่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้บรรลุเป้าหมาย ฉะนั้น คอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ได้ยึดถือแนวความคิดของเหมาเจ๋อตุงเป็นหลักการในการดำเนินการที่เรียกว่า “ลัทธิเหมา” (Maoism)
เหมาเจ๋อตุงได้เรียกวิธีการของตนว่า “ประชาธิปไตยแผนใหม่” ซึ่งเน้นความสำคัญในการรวมกลุ่มชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ปัญญาชน และนายทุน เข้ามาเป็นแกนกลางของคอมมิวนิสต์ เพื่อสนับสนุนการปฏิวัติ
- เหมาเจ๋อตุงให้ความสำคัญของการต่อสู้ด้วยการใช้กำลังพลและอาวุธ โดยแสดงออกในรูปของสงครามปลดปล่อย ซึ่งมีทหารป่า และกองโจรติดอาวุธเป็นหัวหอกในการขยายอิทธิพล สำหรับกลยุทธที่ทหารป่า และกองโจรดำเนินการนั้นใช้หลัก “มึงมา ข้ามุด มึงหยุด ข้าแหย่ มึงแย่ ข้าตี มึงหนี ข้าตาม”
- ต้องเอาชนะจิตใจประชาชน คือการแย่งชิงปวงชน
- ต้องเอาชนะเพื่อให้ได้มาซึ่งเสบียงอาหาร
- ต้องพิชิตป้อมปราการของศัตรูให้จงได้
ปรัชญาการเมือง
หัวใจของปรัชญาทางการเมืองของเหมาเจ๋อตุง คือ “มวลชนสู่มวลชน ” หมายถึง นโยบายของพรรคต้องเริ่มต้นจากมวลชนโดยตรงโดยวิธีการดังนี้
- รวบรวมความคิดเห็นของมวลชนที่กระจายไม่เป็นระเบียบ
- ศึกษาความคิดเห็นที่ได้รวบรวมและเสนอผู้บังคับบัญชา
- ผู้บังคับบัญชาให้คำแนะนำและส่งคืนสู่ประชาชน
- เมื่อมวลชนยอมรับ ก็คือนโยบาย
ความขัดแย้งในความคิดของ เหมาเจ๋อตุงมี 2 ประเภท คือ
1. ความคิดที่ขัดแย้งเกี่ยวกับตนเอง และศัตรู
2. ความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
- ระหว่างอุตสาหกรรมหนักกับการเกษตรกรรม
- ระหว่างอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่น
- ระหว่างในเมืองกับชนบท
- ระหว่างชนกลุ่มน้อยในชาติกับประชาชนชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ทฤษฎีการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุง
ระดับพัฒนาการของทุนนิยมในจีนในยุคของเหมาเจ๋อตุงนั้นไม่ได้เป็นสังคมทุนนิยมตามความหมายในลัทธิมาร์กซ์ แต่เป็นสังคมที่เหมาเจ๋อตุงเรียกว่า “กึ่งศักดินา กึ่งอาณานิคม” ดังนั้น ในเมื่อลัทธิมาร์กซ์มิได้ผูกขาดขบวนการปฏิวัติเพื่อสังคมนิยมไว้กับวิธีการปฏิวัติอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ หากเป็นลัทธิที่เปิดกว้างให้กับการนำเอากลวิธีใดก็ได้มาใช้ หากกลวิธีดังกล่าวสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ เหมาเจ๋อตุงจึงได้พยายามศึกษาคิดค้นแนวทางดำเนินการ และกลวิธีในการทำสงครามปฏิวัติที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ตามความเป็นจริงที่ปรากฏในจีนขณะนั้น
ในเมื่อพัฒนาการของสังคมจีนมีรากฐานทางเศรษฐกิจ (โครงสร้างขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ) ที่แตกต่างมากจากสังคมทุนนิยมของยุโรปตะวันตก การเน้นบทบาทของปัจจัยด้านอัตวิสัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแนวทฤษฏีการปฏิวัติของลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งการเน้นบทบาท และความสำคัญของปัจจัยอัตวิสัยในการทำการปฏิวัติของจีนเป็นที่ประจักชัดจากการที่เหมาเจ๋อตุง ได้ชี้ให้เห็นว่าไม่มีการขัดกันระหว่างลัทธิจิตสำนึก (voluntarism) กับลัทธิวัตถุกำหนด (economic determinism) โดย เหมาเจ๋อตุง ยอมรับว่าวัตถุเป็นเครื่องกำหนดระบบความคิดและความคงอยู่ของสังคม และความสำนึกของบุคคลในสังคม แต่ขณะเดียวกันเขาเห็นว่าอำนาจของความสำนึกอาจเปลี่ยนสภาพวัตถุได้เหมือนกัน
พลังของจิตสำนึก (ปัจจัยอัตวิสัย) ซึ่งตามลัทธิมาร์กซ์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างส่วนบน (superstructure) จะสามารถก่อความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก็ต่อเมื่อมีความสัมพันธ์และสัมผัสโดยตรงกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองที่ปรากฏในแต่ละห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ความคิดของเหมาเกี่ยวกับการปฏิวัติจึงได้เน้นให้ความสำคัญแก่ชาวนามากกว่ากรรมกรในการทำการปฏิวัติ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเหมาปฏิเสธลัทธิมาร์กซ์เกี่ยวกับความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในการปฏิวัติ แต่เป็นเพราะจีนในยุคของเหมา ไม่มีจำนวนกรรมกรที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพเพียงพอที่จะทำการปฏิวัติ และข้อสำคัญที่สุดคือ การที่เหมาได้มอบบทบาทหลักในการทำปฏิวัติจีนให้แก่ชนชั้นชาวนาหาไม่ได้มีความหมายว่าเหมาเจ๋อตุงได้เปลี่ยนหลักการขั้นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน ทั้งนี้เหมาได้เน้นอีกด้วยว่าถึงแม้การปฏิวัติของจีนโดยเนื้อหาแล้วจะเป็นการปฏิวัติของชาวนา แต่การปฏิวัติดังกล่าวจำต้องนำโดยฝ่ายกรรมาชีพ หรืออีกนัยหนึ่งต้องเป็นการปฏิวัติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์
ลักษณะเด่นอีกด้านหนึ่งของแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุงที่มีลักษณะจำเพาะต่างจากลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน (แต่ยังคงรักษาเนื้อหาและหลักการเดิมไว้) คือ การเปลี่ยนความคิดเดิมของลัทธิเลนินที่ว่าเส้นทางไปสู่ชัยชนะของการปฏิวัติมีจุดศูนย์กลางที่การลุกฮือในเมืองโดยเหมาเจ๋อตุงได้เปลี่ยนรูปแบบของการปฏิวัติโซเวียตจากเมืองสู่ชนบทเป็นชนบทสู่เมือง โดยเน้นลักษณะการทำสงครามปฏิวัติที่ยืดเยื้อมีชนบทเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนาจปฏิวัติ นอกจากนั้นโดยที่จีนยุคปฏิวัติตกอยู่ภายใต้การรุกรานและยึดครองของญี่ปุ่นจึงนับเป็นการเปิดโอกาสให้เหมาเจ๋อตุงทำการโยงปัญหาการปฏิวัติเข้าโดยตรงกับปัญหาความอยู่รอดของจีน ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากจนประสบชัยชนะในที่สุด
จะเห็นได้ว่าเหมาเจ๋อตุงนิยมใช้วิธีการรุนแรง ที่เรียกกันว่า “อำนาจต้องได้มาด้วยกระบอกปืน” และเหมาเจ๋อตุงมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า ด้วยวิธีการใช้กำลังพลเข้าโจมตีอย่างหาญหัก และด้วยวิธีการอันฉับพลันทันใด คอมมิวนิสต์จะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด
ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เกิดขึ้นมาในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า สมัยนั้นผู้ใช้แรงงานยังได้รับค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ และสวัสดิการในด้านต่าง ๆก็ไม่สู้ดีนัก แต่ในปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมาก ทำให้สถานภาพและความเป็นอยู่ของคนงานโดยส่วนรวมดีขึ้น ฉะนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์จึงอาจล้าสมัย และนอกจากนั้นปรากฏว่ายังไม่มีประเทศใดในโลกนี้ได้บรรลุความเป็นคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์แม้แต่ประเทศเดียว
สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์
- แนวคิดในเรื่องสังคมนิยมเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเพลโต้เขียนเรื่อง อุตมรัฐ และ เซอร์ โธมัส มอร์เขียนเรื่อง ยูโทเปีย
- ส่วนแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์เป็นแนวคิดที่เกิดจากแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ จุดประสงค์ คือ ต้องการทำลายแนวคิดแบบประชาธิปไตย ที่มีลักษณะเป็นเหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก จึงต้องการสร้างสังคมที่ปราศจากชนชั้น
แนวความคิดของลัทธิสังคมนิยมได้เกิดขึ้นก่อนคริสตศักราช กล่าวคือ เพลโตได้วาดมโนภาพไว้ว่า สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นของกลางเพื่อให้คนทุกชั้นได้บริโภค
วิวัฒนาการของสังคมนิยมได้เริ่มตั้งแต่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 19 กล่าวคือผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกรซึ่งไม่มีทั้งความรู้ และทรัพย์สินได้รับความทุกข์ยาก และมีความยากจนข้นแค้นเป็นอย่างมาก นักสังคมนิยมจึงได้แสวงหาวิธีการที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ปราศจากความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมกัน นักคิดเหล่านี้เสนอแนะให้มนุษย์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยให้พิจารณาถึงผู้ยากจนเป็นกรณีพิเศษ
สังคมนิยมมี 2 แบบ คือ
- สังคมนิยมแบบอุดมคติ (Utopian Socialism)
- สังคมนิยมแบบประชาธิปไตย (Democratic Socialism)
คำว่า “คอมมิวนิสต์” (Communist) เริ่มมีขึ้นราวปี ค.ศ. 1834-1839 พวกสมาคมลับที่จะปฏิวัติฝรั่งเศสคิดขึ้น หมายถึง “การรวมกันของบรรดาทรัพย์สิน เป็นของกลางร่วมกันทั้งหมด” (Community of goods) โดยเห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของความสุขสมบูรณ์ และความยากจนของมนุษย์ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ต่างคนต่างเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
คอมมิวนิสต์ เป็นลัทธิขบวนการปฏิวัติที่พยายามจะล้มล้างลัทธิทุนนิยม และจัดตั้งสังคมใหม่ โดยให้ถือว่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนรวม การดำเนินการเศรษฐกิจจะเป็นไปตามแผนการ และอยู่ในความควบคุมจัดการของส่วนรวม โดยแบ่งส่วนเฉลี่ยทรัพย์แก่ทุกคนตามหลักการที่ว่า “แต่ละคนทำงานตามความสามารถของตนแต่ละคนได้รับสิ่งที่ตนต้องการ”
จุดประสงค์หลักของคอมมิวนิสต์
- มุ่งก่อตั้งสังคมไร้ชนชั้น
- เครื่องมือการผลิตต้องกระจายไป
- การแลกเปลี่ยนทุกชนิดต้องเป็นของประชาคม
- รัฐซึ่งเป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนจะต้องสลายไป
- ถ้ายังไปไม่ถึงอุดมการณ์นั้น ให้เรียกว่า “สังคมนิยม” หรือ “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ”
คือ แต่ละคนทำงานตามความสามารถของเขา และรับปันผลผลิตจากสังคมนิยมตามความจำเป็นของเขา
จุดแข็งของคอมมิวนิสต์
คือ การดึงปัญญาชนเข้ามามีบทบาท แล้วถ่ายทอดสู่ชนชั้นแรงงานระดับล่าง ความจริงแล้วลัทธินี้ก็คือ กลุ่มแนวคิดที่เข้ามาแทนที่ช่องว่างอันเกิดมาจากการสลายตัวขององค์กรทางศาสนานั่นเอง
ความเหมือน และความแตกต่างระหว่างสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์
ความเหมือน
ประชาคม หรือรัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบวิธีที่จะให้ประชาคมเข้าทำการควบคุม จึงต้องมีรัฐไว้เพื่อทำหน้าที่บริการแทนไปก่อน
ความแตกต่าง
สังคมนิยมถือว่าพวกเขาสามารถก่อตั้ง และดำรงระบบของพวกตนเอาไว้ด้วยวิถีประชาธิปไตย ซึ่งคอมมิวนิสต์ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ และกล่าวหาสังคมนิยมว่าเป็นพวกประนีประนอมกับนายทุน
บรรณานุกรม
- ทวีป วรดิลก. เหมาเจ๋อตง ฮ่องเต้นักปฏิวัติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
- ทอม บอตโตมอร์. พัฒนาการศาสตร์มาร์กซิสม์ ว่าด้วยสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: หจก.เจริญวิทย์การพิมพ์, 2529.
- สัญชัย สุวังบุตร. ประวัติศาสตร์โซเวียดสมัยเลนิน ค.ศ.1917-1924. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภา, 2545.
- สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชาปรัชญาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532.
- วิทยา ศักยาภินันท์. ปรัชญามาร์กซ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2533.
- อาร์.เอ็น.ฮันท์. วิเคราะห์ลัทธิคอมมิวนิสม์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2523.
- ที่นี่ ที่เดียว เรื่องเที่ยวรัสเซีย. การปฏิวัติรัสเซีย. [Online].
- นักปรัชญา. คาร์ล มาร์กซ์. [Online].เข้าถึงได้จาก: www.biolawcom.com.
- บทความ. วลาดิมีร์ เลนิน. [Online]. เข้าถึงได้จาก: www.wikipedia.co.th
- แสดงความคิดของนักปรัชญา. ประวัติและผลงานของ เกออร์ก เฮเกิล. [Online].
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น