ชาติภูมิ พระสวรรค์วรนายก นามเดิม ทองคำ จิตรธร
เป็นบุตรกำนันหนุน นางสายบัว จิตรธร เกิดที่หลังวัดสวรรคาราม ตำบลเมืองสวรรคโลก (เดิมเป็นตำบลพิณพาทย์ อำเภอวังไม้ขอน จังหวัดสวรรคโลก) อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เกิดเมื่อปีฉลู พ.ศ.2420 |
พระสวรรค์วรนายกมีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันเป็นชายทั้งสิ้นรวม 5 คน โดยท่านเป็นบุตรคนโต คือ
1. พระสวรรค์วรนายก 2. พระครูธรรมวโรทัย (เพชร จิตรธร) 3. หลวงพินิจสรรพากร (แจ่ม จิตรธร) รับราชการเป็นสรรพากรจังหวัดสวรรคโลก 4. นายเจิม จิตรธร เมื่อบวชมีฐานานุกรมว่า พระวินัยธร ชาวบ้านเรียกพระวินัยธรเจิม 5. นายบาง จิตรธร รับราชการเป็นเสมียนศาล จังหวัดสวรรคโลก |
พี่น้องของท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก ได้มรณภาพและถึงแก่กรรมไปก่อน 3 คน คือพระครูธรรมวโรทัยหลวงพินิจสรรพากร และนายเจิม จิตรธร ส่วนนายบาง จิตรธร ถึงแก่กรรมภายหลังท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายกมรณภาพ
|
การศึกษาและสมณศักดิ์ |
เมื่อเยาว์วัย ได้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดกลาง (วัดสวรรคาราม) ต่อมาได้บวชเป็นเณรและได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร เมื่ออายุได้ 20 ปี คือ พ.ศ.2440 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "โสโณ" ท่านได้ขะมักเขม้นสนใจค้นคว้าศึกษาพระปริยัติธรรมมิได้ละเว้น ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นปลัด เรียกกันเป็นสามัญของผู้ที่คุ้นเคยว่า "พระปลัดคำ" เมื่ออุปสมบทได้ 10 พรรษา ตรงกับ พ.ศ. 2450 ได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูสวรรค์วรนายก
|
ต่อมาใน พ.ศ. 2476 พระครูสวรรค์วรนายก ได้รับสมณศักดิ์เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญดังปรากฏในสัญญาบัตรว่าให้พระครูสวรรค์วรนายก วัดสวรรคาราม จังหวัดสวรรคโลก เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระสวรรค์วรนายก ธรรมสาธกวินัยวาที สังฆปาโมกข์
|
ในปี พ.ศ.2491 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชตามราชทินนามเดิมเมื่อท่านลงนามจะมี .ร ต่อท้ายทุกครั้งว่า "พระสวรรค์วรนายก .ร"
|
ในขณะที่ท่านจำพรรษา ณ วัดสุทัศน์ฯ พระสวรรค์วรนายก เป็นปลัดของเจ้าคณะมณฑลราชบุรี และเป็นเลขานุการเจ้าคณะมณฑล ได้เคยไปตรวจงานด้านการศึกษาในเขตจังหวัดราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
|
โดยเหตุที่บ้านเกิดของท่านอยู่บริเวณหลังวัดสวรรคารามและเคยเรียนหนังสือที่วัดนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงปรากฏว่าแม้ท่านจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะใหญ่ ณ วัดสว่างอารมณ์ ท่านก็ไม่เคยไปอยู่วัดสว่างอารมณ์เลย ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดสวรรคารามโดยตลอด
|
ในขณะที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลกนั้น ท่านได้ขอเปลี่ยนนามวัดกลาง ให้มีชื่อในทางราชการว่า "วัดสวรรคาราม" ท่านสร้างศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ทำรอกันตลิ่งพังหน้าวัดหลายปี ต่อมาได้ปลูกกอไผ่แทนจึงอยู่ทนมาได้ จนกระทั่งเทศบาลเมืองสวรรคโลกได้ทำเขื่อนเรียงหินกันตลิ่งพังดังที่เห็นปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ได้เริ่มสร้างกุฏิตึกเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.2465 โดยจ้างชาวจีนคนหนึ่ง เรียกว่า จีนแส มาดำเนินการสร้างด้วยเงินนับหมื่นบาท ถ้าคิดเป็นเงินในสมัยปัจจุบันนี้ก็เป็นเงินสองสามล้านบาท ต่อมานายฮกเลี้ยง สุนอนันต์ นายช่างแขวงการทางจังหวัดสวรรคโลก (บิดาเป็นคนจีน ท่านเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดีคนหนึ่งของจังหวัดสวรรคโลก สำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนี ได้มาช่วยออกแบบทำเพดานและโค้งคอนกรีตรองรับพื้นเพิ่มเติมอีก
|
เมื่อท่านมีชีวิตอยู่นั้นโดยเหตุที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่และมีอัธยาศัยดี จึงปรากฏว่าได้เคยมีเจ้านายและบุคคลชั้นผู้ใหญ่ไปเยี่ยมเยียนท่านมิได้ขาด เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เคยเสด็จทางเรือและประทับพักแรมที่วัดสวรรคาราม นอกจากนี้ก็มีสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และรัฐมนตรีในรัฐบาลต่างๆ อีกหลายท่าน
|
ลักษณะและอุปนิสัยส่วนตัวของพระสวรรค์วรนายก คือ เสียงใหญ่และเสียงดังฟังชัด เมื่อท่านแสดงพระธรรมเทศนาบนธรรมมาสน์ในศาลาการเปรียญ พุทธศาสนิกชนจะได้ยินได้ฟังอย่างถนัดชัดเจน โดยไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด เพราะขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน ท่านเคร่งครัดในพระปาติโมกข์อย่างยิ่ง ท่องบ่นอยู่มิได้ขาดและมีความแม่นยำมาก เวลาลงปฏิบัติศาสนกิจในพระอุโบสถเมื่อท่านสวดปาติโมกข์ครั้งใด ต้องให้พระสองรูปคอยตรวจทานในหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้ผิดพลาด
|
ท่านเป็นพระภิกษุที่ตรงต่อเวลามาก จะปฏิบัติตามกำหนดการโดยเคร่งครัดไม่ผิดเวลาเลยจนเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่สงฆ์ของจังหวัดสุโขทัย ถ้ามีกิจกรรมสงฆ์ที่ใดมักจะถามกันว่างานนี้นิมนต์เจ้าคุณสวรรค์วรนายกไปหรือไม่ ถ้านิมนต์ท่านไปด้วยพระรูปอื่นๆ จะต้องไปก่อนเวลาเสมอบางครั้งมีพระรูปอื่นไปไม่ทัน ถ้าถึงเวลาตามกำหนดการท่านจะสั่งให้เจ้าภาพดำเนินการทันทีโดยไม่ต้องรอพระรูปที่ไปไม่ทัน จึงทำให้พระรูปอื่นๆ ต้องรักษาเวลาตามท่านไปด้วย
|
นอกจากนี้ท่านยังชอบสะสมศิลปวัตถุโบราณสมัยต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากท่านเป็นอุปัชฌาย์และเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป จึงได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นพระอุปัชฌาย์ในการอุปสมบทพระตามวัดต่างๆ ทั้งในเขตอำเภอสวรรคโลกและเขตอำเภอใกล้เคียงเป็นประจำ เจ้าอาวาสและประชาชนต่างก็ทราบดีว่าท่านชอบสะสมโบราณวัตถุ จึงถวายศิลปวัตถุโบราณที่มีอยู่ให้ท่านเสมอ ซึ่งท่านก็ชอบใจและอนุโมทนาทุกครั้ง ศิลปวัตถุโบราณเหล่านั้นท่านจะบรรทุกล้อหรือเกวียนที่เทียมด้วยวัว หรือควายที่เจ้าภาพนำล้อ หรือเกวียนมารับท่าน เพราะสมัยนั้นรถยนต์หายาก รถยนต์ส่วนตัวก็ไม่มี รถประจำทางซึ่งมีใช้ก็มีอยู่น้อยคัน เมื่อท่านได้พระพุทธรูป หรือศิลปวัตถุโบราณมาแล้วจะนำมาเรียงไว้ในตึกกุฏิของท่าน ศิลปวัตถุบางอย่างเช่น เศียรพญานาค จะนำมาเรียงไว้รอบระเบียงตึกอย่างสวยงาม สำหรับพระเครื่องนั้นท่านมีมากมาย อาทิ พระร่วงรุ่นต่างๆ พระเครื่องโป่งมะขาม ฯลฯ
|
เมื่อท่านอายุได้ 80 ปีเศษ ท่านได้ปรารภกับไวยาวัจกรและกรรมการวัดหลายท่านว่า หากท่านมรณภาพไปแล้วให้นำศิลปวัตถุโบราณที่ท่านสะสมไว้นี้มอบให้กับทางราชการ โดยให้สร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ในวัดสวรรคาราม ห้ามมิให้นำสิ่งของออกไปไว้นอกวัดไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
|
นอกจากนี้ท่านยังมีความชำนาญในการแกะสลักไม้เป็นอย่างมาก มีเครื่องมือสำหรับการแกะสลักครบชุด ไม้ที่ท่านชอบแกะสลักได้แก่ปุ่มไม้มะค่า วัตถุที่แกะสลักนั้นมีตั้งแต่กล่องสำหรับใส่บุหรี่และกรอบรูป โดยเฉพาะกล่องบุหรี่มีหลายขนาดทั้งขนาดใหญ่และเล็กมากมายหลายร้อยกล่อง ท่านทำได้อย่างงดงาม และได้เคยนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสวรรคโลก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม
พ.ศ.2501 |
สำหรับเมืองสวรรคโลกนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสวรรคโลกให้ไปขึ้นกับจังหวัดสุโขทัย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2482 ดังนั้นฐานะของเจ้าคุณสวรรค์วรนายก ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก จึงเปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยไปด้วย
|
เมื่อท่านอายุได้ 80 ปีเศษ ท่านได้ปรารภกับไวยาวัจกรและกรรมการวัดหลายท่านว่า หากท่านมรณภาพไปแล้วให้นำศิลปวัตถุโบราณที่ท่านสะสมไว้นี้มอบให้กับทางราชการ โดยให้สร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ในวัดสวรรคาราม ห้ามมิให้นำสิ่งของออกไปไว้นอกวัดไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
|
ท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลกมาตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2450 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2482 จึงเปลี่ยนเป็นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมาโดยไม่บกพร่องแต่อย่างใด ต่อมาในปี พ.ศ.2508 เมื่อท่านมีอายุได้ 88 ปี พรรษาที่ 68 เป็นปีที่ท่านประสบมรสุมร้ายแรงที่สุดในชีวิต ทุกคนต่างตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านอย่างไม่คาดฝัน กล่าวคือ ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยกิตติมศักดิ์ โดยให้พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยที่มีอำนาจบังคับบัญชาพระภิกษุสามเณรทั่วไป ในคำสั่งอ้างว่าท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเพราะสุขภาพไม่ดี ท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายกตกใจและเสียใจมากท่านได้บอกให้ทุกคนที่ไปเยี่ยมท่านว่า ท่านไม่เคยลงนามในหนังสือลาออกเลย ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ จึงให้คนที่เคารพนับถือท่านไปติดตามเรื่องนี้ที่กรมการศาสนา ปรากฏว่าท่านได้ลงนามในหนังสือลาออกไปจริงๆ เรื่องนี้คงจะมีบุคคลหนึ่งที่ไม่หวังดีต่อท่าน ทำหนังสือลาออกสอดไส้ไปในแฟ้มหนังสือราชการไปให้ท่านลงนามในวันใดวันหนึ่งที่ท่านรีบร้อนจะไปในงานกิจนิมนต์ โดยไม่ได้อ่านหนังสือให้รอบคอบจึงลงนามไป แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า พระภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านไว้ใจมากเป็นคนทำหนังสือฉบับนี้
|
ประชาชนชาวสวรรคโลกต่างเศร้าสลดและเสียใจในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์อันสะเทือนใจนี้ทำให้ท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายกเริ่มป่วยมาแต่บัดนั้น คณะศิษยานุศิษย์ได้นำแพทย์มารักษาเป็นอย่างดี อาการมีแต่ทรงกับทรุด มาจนถึงวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2508 ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง เวลาบ่าย ท่านยังมีสติสัมปชัญญะดี ได้เรียกผ้าไตรใหม่มาครองซึ่งตามปกติท่านจะไม่ครองผ้าไตรใหม่เลย ในระหว่างที่กำลังผลัดเปลี่ยนผ้าสบงท่านก็มรณภาพเมื่อ เวลา 13.45 น. ด้วยอาการสงบ แพทย์ลงความเห็นว่ามรณภาพเพราะหัวใจล้มเหลว แต่ชาวบ้านว่ามรณภาพเพราะโรคชรา รวมอายุได้ 88 ปี พรรษาที่ 68
|
คณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสได้ประกอบพิธีงานศพให้ท่านอย่างสมเกียรติ ฝ่ายสงฆ์มีพระครูอุดมปฏิภาณ เจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก เป็นหัวหน้า ฝ่ายฆราวาสมีนายเพ่ง ลิมปะพันธ์ ประธานสภาจังหวัดสุโขทัย เป็นหัวหน้า เมื่อทำบุญ 100 วัน เสร็จแล้วได้ให้ทำพิธีเก็บศพไว้ที่กุฏิตึกเพื่อขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
|
ต่อมาในราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2508 ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อบูรณะเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้ทราบเรื่องศิลปวัตถุโบราณที่เจ้าคุณสวรรค์วรนายกจะมอบให้กับทางราชการ จึงได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบูรณะเมืองเก่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2508 ได้ปรารภกับที่ประชุมว่า ท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายกที่มรณะภาพไปแล้ว ท่านมีเจตน์จำนงจะมอบศิลปวัตถุโบราณที่ท่านสะสมไว้ให้เป็นสมบัติของทางราชการ เพื่อจัดตั้งแสดงในพิพิธภัณฑสถานที่จะสร้างในวัดต่อไป นับว่าท่านเป็นพระเถระที่มีใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ที่ดีของท่านจึงสั่งให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณเป็นสองส่วน ส่วนแรกให้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ โดยให้กรมศิลปากรร่วมกับบรรดาศิษยานุศิษย์จัดสร้างเมรุ จัดซื้อเครื่องปัจจัยไทยทาน ตลอดจนจัดโขนและละครของกรมศิลปากรไปแสดง กับงบประมาณอีกส่วนหนึ่งให้เป็นค่าก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานสวรรควรนายก
|
คณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายสงฆ์ ฆราวาส และกรมศิลปากรได้ร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2510 โดยจัดให้มีโขนและละครจากกรมศิลปากร มาแสดง เมื่อคณะกรรมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการวัดและบรรดาศิษยานุศิษย์จึงได้ประชุมปรึกษาเกี่ยวกับการมอบศิลปวัตถุโบราณของเจ้าคุณสวรรค์วรนายก ให้กรมศิลปากร โดยขอให้กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจพื้นที่ ที่จะทำการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจแล้วเห็นว่าวัดมีพื้นที่ที่จะก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เพียง 7 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างให้สวยงามได้ ขอให้กรรมการวัดจัดหาที่ดินเพิ่มเติมให้ด้วย คณะกรรมการวัด และกรมศิลปากรจึงได้บอกบุญรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ปรากฏว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงมีเงินซื้อที่ดินเพิ่มเติมได้อีก 14 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 21 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์โดยตั้งงบประมาณหนึ่งล้านสองแสนบาท และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2511
|
เมื่อสร้างพิพิธภัณฑ์เสร็จในปี พ.ศ.2512 คณะกรรมการวัดจะมอบให้กรมศิลปากร แต่พระครูสุนันท์คุณาภรณ์ (พระครูวินัยธร ยิ้ม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม ไม่ยินยอมมอบให้อ้างว่า เจ้าคุณสวรรค์วรนายกไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้กรมศิลปากร ดังนั้นศิลปวัตถุโบราณของเจ้าคุณสวรรค์วรนายก จึงควรต้องตกเป็นของสงฆ์ คณะกรรมการวัดจึงแต่งตั้งทนายความยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลจังหวัดสวรรคโลกบังคับให้เจ้าอาวาสวัดสวรรคารามมอบสิ่งของให้แก่กรมศิลปากร เจ้าอาวาสวัดสวรรคารามก็แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดีกัน ผลที่สุดของคดีศาลตัดสินให้ศิลปวัตถุโบราณตกเป็นของสงฆ์ โดยคณะกรรมการวัดไม่มีสิทธิ์ที่จะมอบให้กรมศิลปากร
|
พระครูสุนันท์คุณาภรณ์ (พระครูวินัยธร ยิ้ม) จึงรักษาศิลปวัตถุโบราณของเจ้าคุณสวรรค์วรนายก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนถึงปีพ.ศ. 2524 เป็นเวลา 16 ปี ในห้วงเวลาดังกล่าวได้มีการโจรกรรมพระพุทธรูป พระเครื่อง และศิลปวัตถุโบราณที่มีค่าไปจากที่เก็บรักษาหลายครั้ง สิ่งของจึงขาดจากบัญชีที่ทำไว้ หลังจากเจ้าคุณสวรรค์วรนายกมรณภาพเป็นจำนวนไม่น้อย
|
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2524 พระครูสุนันท์คุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม มรณภาพ พระสุนทรธรรมาภรณ์ (อาจารย์บำเหน็จ วัดคลองกระจง) ขณะนั้นท่านพระครูสุธรรมนิเทศ รองเจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม ได้ดำเนินการตรวจสอบศิลปวัตถุโบราณอีกครั้งหนึ่ง และได้ทำพิธีมอบให้กับกรมศิลปากร โดยมี ฯพณฯ ขุนทอง ภูผิวเดือน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
|
กรมศิลปากร ได้รับมอบศิลปวัตถุโบราณแล้ว ได้เร่งดำเนินการจัดแสดงให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ให้ทันในปีเฉลิมฉลอง 700 ปี ลายสือไทย ในการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ กรมศิลปากร ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถาน ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2527 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านเจ้าคุณพระสวรรค์วรนายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นเจ้าของศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นี้ ทางราชการจึงได้ตั้งชื่อว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก"
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น