วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วลาดิมีร์ เลนิน


(Vladimir Lenin 1870-1924) 

ชื่อจริงของเขา คือ วลาดิมีร์ อีลิช ยูเลียนอฟ (Vladimir Ilyich Ulyanov) เกิดที่เมืองเซมเบิร์ซก์ของรัสเซีย เขาได้ศึกษากฎหมายและงานเขียนของ คาร์ล มาร์กซ์ เป็นคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ที่สถาปนาเมื่อ ค.ศ. 1922 เป็นหัวหน้าพรรคบอลเชวิก นายกรัฐมนตรีคนแรก และเป็นเจ้าของแนวคิดส่วนใหญ่ในลัทธิเลนิน เขาได้รับการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยคาซาน และเซนปีเตอร์สเบิร์ก เลนินถูกเนรเทศไปไซบีเรียจนถึง ค.ศ.1900 เนื่องจากเข้าขบวนการปฏิวัติใต้ดิน หลังการปฏิวัติ เลนินได้เป็นหัวหน้าพรรค “บอลเชวิค” (Bolshevik) ที่ทำการปฏิวัติล้มล้างระบบกษัตริย์ของรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 และตั้งตนเป็นผู้นำประเทศและรีบทำการเจรจาสงบศึกกับฝ่ายเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อทุ่มกำลังปราบปรามฝ่ายต่อต้านในสงครามกลางเมืองของรัสเซียที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1918-1921

เลนินมีความเชื่อมั่นในระบอบสังคมนิยม จึงรวบอำนาจมารวมไว้ในพรรคคอมมิวนิสต์ และเริ่มปรับเปลี่ยนระบบควบคุมจากส่วนกลางที่เข้มงวด และเหี้ยมโหดของพวกบอลเชวิก มาทุ่มเทการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแนวใหม่ที่เรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจแนวใหม่”(New Economic Policy)อย่างเต็มที่เพื่อล้มระบบทุนนิยม แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากกลุ่มหัวรุนแรงเดิมว่าเป็นการอ่อนข้อให้ระบบทุนนิยม และหนีห่างจากระบบสังคมนิยมมากเกินไป

เมื่อเขาเสียชีวิต ศพของเลนินได้รับการอาบน้ำยาตั้งไว้ให้ประชาชนเคารพในสุสานที่จตุรัสหน้าวังเครมลินจนถึงปัจจุบัน นับว่าเลนินเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตที่ยังมีคนนับถือ พรรคคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนชื่อเมืองสำคัญคือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มาเป็นเมืองเลนินกราด เมื่อ ค.ศ. 1924 เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา แต่ได้กลับมาใช้ชื่อเดิมอีกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากเลนิน คือ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตเข้าสู่ยุคม่านเหล็กที่ลึกลับที่ปิดประเทศจากโลกเสรี มีการปกครองที่เด็ดขาด และโหดเหี้ยมขัดกับเจตจำนงเดิมของเลนินอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตสลายได้โดยง่ายเมื่อปี ค.ศ. 1991 เลนินได้รับการยอมรับให้เป็นบิดาของลัทธิคอมมิวนิสต์สมัยใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์หลายชาติต่างยึดถือลัทธิเลนินเป็นแบบฉบับ

ผลงานสำคัญ
  • พัฒนาการของระบบทุนนิยมในรัสเซีย
  • หนังสือพิมพ์อิสกรา
  • จะทำอะไรในอนาคต (What is to be done)
  • เมษาวิจารณ์ (April Theses)
  • รัฐและการปฏิวัติ
  • การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917
สาเหตุของการปฏิวัติรัสเซีย
  1. ความพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ 1 รัสเซียประกาศสงครามกับเยอรมนี ในปี ค.ศ.1914 และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายเดียวกับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ต้องเป็นฝ่ายปราชัย และได้รับความเสียหายในแนวรบด้าน ต่าง ๆ อย่างมาก
     
  2. ปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะขาดแคลนอาหารภายในประเทศ การเข้าร่วมสงคราม ทำให้รัสเซียประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เนื่องจากชาวนาถูกเกณฑ์เป็นทหาร จึงทำให้ปริมาณผลผลิตตกต่ำ ราคาอาหารและสินค้าต่าง ๆ จึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจึงชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล
     
  3. ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ และความเสื่อมโทรมของการปกครองระบอบเก่า พระเจ้า ซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศที่เกิดขึ้นได้ ซ้ำร้ายยังทรงแต่งตั้งบุคคลที่ไร้ความสามารถเข้าทำหน้าที่ในรัฐบาลเป็นผลให้งานบริหารราชการแผ่นดินได้รับความเสียหาย
     
  4. ความวุ่นวายภายในประเทศ สืบเนื่องมาจากภาวะความขาดแคลนอาหาร และน้ำมันเชื้อเพลิงในปี ค.ศ.1917 ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องใช้วิธีปันส่วนอาหาร และควบคุมการใช้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศ และเกิดการจลาจลตามเมืองต่างๆ
การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 ประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ
  • การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการปฏิวัติโค่นล้มการปกครองระบอบกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้า ซาร์นิโคลัสที่ 2 ( Tsar Nicholas II ) และราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov) ต้องล่มสลาย
     
  • การปฏิวัติเดือนตุลาคม เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์เป็นประเทศแรกของโลก โดยการนำของเลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิก หรือพรรคคอมมิวนิสต์ของรัสเซียในขณะนั้น
การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 
เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
  1. จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 เมื่อกรรมกรหญิงในกรุงเปโตรกราดได้จัดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเข้าร่วมในสงครามโลก ครั้งที่ 1 และแก้ไขปัญหาความอดอยากขาดแคลนอาหาร รัฐบาลได้ใช้กำลังทหารและตำรวจปราบปรามฝูงชน
     
  2. พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสละราชบัลลังก์ เมื่อเหตุการณ์บานปลายมีประชาชนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก พระเจ้าซาร์จึงทรงสละราชสมบัติตามคำแนะนำของสภาดูมา (Duma) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1917เหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวจึงยุติลง เป็นการสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟ และการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในประเทศรัสเซีย
การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 
เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ มีสาเหตุดังนี้
  1. ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ภายหลังสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล ยังคงสนับสนุนให้รัสเซีย เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อไป แต่เมื่อต้องประสบความพ่ายแพ้ในการรบหลาย ๆครั้ง ทำให้ประชาชนไม่พอใจพรรคบอลเชวิก จึงฉวยโอกาสปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านสงคราม
     
  2. การก่อกบฏของนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov) ในเดือนกันยายน ค.ศ.1917 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาล และจัดตั้งระบบเผด็จการทางทหารขึ้นแทน แต่ถูกรัฐบาลปราบปรามลงได้ โดยความช่วยเหลือของพรรคฝ่ายซ้าย
     
  3. วิกฤติทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมในสงคราม รัสเซียประสบปัญหาหนี้สินจากการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและมีราคาสูงทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
     
  4. การเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้นำการปฏิวัติ ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่นอกประเทศ เช่น วลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) และเลออน ทร็อตสกี (Leon Trotsky) ได้ร่วมกันวางแผนปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล และเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม
การดำเนินการยึดอำนาจของเลนิน 
เลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิก ได้วางแผนปฏิวัติยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลังอาวุธ โดยใช้เวลาระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม ค.ศ.1917 เข้ายึดสถานที่ทำการของรัฐบาล และจับกุมบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลได้เกือบหมด จึงถือว่า รัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่ปฏิวัติเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์

ความสำคัญของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917
  1. การปฏิวัติในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ของพรรคบอลเชวิก ทำให้รัสเซียเป็นต้นแบบของการปฏิวัติสังคมนิยมที่ประเทศอื่น ๆ นำมาเป็นแบบอย่าง ในด้านบทบาทของเลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิก ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำการปฏิวัติในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ยึดถือในอุดมการณ์ของการปฏิวัติเช่นกัน
     
  2. การวางแผนพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลกในเวลาไม่นาน และก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นชาติมหาอำนาจในเวทีการเมืองของโลกในปัจจุบัน
การปฏิวัติกระฎุมพี 
การปฏิวัติกระฎุมพี เป็นการรวมตัวระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชาวนา ซึ่งได้ชัยชนะในการปฏิวัติกระฎุมพี และนี่ก็คือความหมายอันแท้จริงของสิ่งที่เลนินเรียกว่า “เผด็จการของปฏิวัติ-ประชาธิปไตยของฝ่ายกรรมาชีพและชาวนา” (revolutionary democratic dictatorship of the proletariat and the peasantry)

เลนินมีความเห็นว่าการปฏิวัติกระฎุมพีนั้นจะนำผลประโยชน์มาให้กับฝ่ายกรรมาชีพมากกว่าฝ่ายกระฎุมพี เนื่องจากการปฏิวัติกระฎุมพีโดยฝ่ายกรรมาชีพ และชาวนาเป็นการปฏิวัติที่รวดเร็วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน พวกกระฎุมพีจึงมีความหวาดกลัวการปฏิวัติ แต่ฝ่ายกรรมาชีพก็จำต้องบังคับให้ฝ่ายกระฎุมพีประสบกับชัยชนะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เลนินถือว่าการปฏิวัติกระฎุมพีจะมีผลอย่างจริงจังก็ต่อเมื่อพวกกระฎุมพีทิ้งการปฏิวัติของพวกตน ก่อให้เกิดการปฏิวัติกระฎุมพีโดยปราศจากพวกกระฎุมพี (bourgeois revolution without the bourgeoisie)

ลักษณะที่เด่นที่สุดของเลนิน คือ การเป็นนักทฤษฎี และนักปฏิวัติที่มีความคิด ความเข้าใจดีที่สุดเกี่ยวกับบทบาทของพรรคปฏิวัติ ซึ่งเลนินถือว่าการมีพรรคปฏิวัติทรงอำนาจเบ็ดเสร็จ มีองค์การที่รัดกุม และสายงานบังคับบัญชาจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างที่แน่ชัด โดยอำนาจเด็ดขาดถูกผูกขาดโดยศูนย์กลางของพรรค (party centralism) ซึ่งเลนินได้เปรียบศูนย์กลางพรรคเป็นเสมือนมันสมอง ส่วนองค์กรย่อยอื่นๆ ของพรรคเป็นเสมือนแขนและขา พรรคมีหน้าที่กำหนดและสั่งการนโยบายให้กับทุกชนชั้นในสังคม

เลนินได้เสนอนโยบายเจตจำนงต่อฝ่ายชนชั้นกรรมาชีพก่อนที่จะทำการปฏิวัติ เป็นการให้ทราบถึงการยอมรับวัตถุประสงค์เป้าหมาย นโยบายของกลุ่มผู้นำปฏิวัติ จึงถือว่าเป็นความคิดแบบ “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” (democratic centralism)

สรุปสาระสำคัญได้ว่า ทฤษฎีว่าด้วยการปฏิวัติของเลนิน ซึ่งรวมถึงทฤษฏีเกี่ยวกับพรรคปฏิวัติ และทฤษฏีผู้นำของเลนินได้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการปฏิวัติในประเทศต่างๆ ของโลกช่วง 60 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเป็นทฤษฏีแบบอย่างที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองเปิดโอกาสให้เกิดการปฏิวัติแบบข้ามขั้นตอน โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจำกัดของระดับขั้นพัฒนาการของระบบทุนนิยมดังเป็นที่ประจักษ์จากการปฏิวัติของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในจีน และเวียดนาม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สรุปเข้ม ภาษาอังกฤษ O-NET + GAT

ติวเข้ม GAT วิชาภาษาอังกฤษ

ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน

ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน

ปรัชญาการเมืองของอาริสโตเติล